สำหรับเจ้าของรถมือใหม่ที่กำลังวางแผนการเงินเพื่อซื้อประกันรถยนต์ แล้วมีข้อสงสัยว่าประกันรถยนต์แบบใดที่เหมาะสมและตรงกับไลฟ์สไตล์การใช้งานรถของตนเอง วันนี้เราชวนมาทำความเข้าใจ ว่าประกันรถยนต์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีรายละเอียดความคุ้มครองเป็นอย่างไร ตอบโจทย์เจ้าของรถแบบไหน รวมถึงบอกวิธีการซื้อประกันรถยนต์ที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เจ้าของรถมือใหม่หรือคนรักรถได้ใช้เป็นแนวทางก่อนตัดสินใจเลือกซื้อประกันรถยนต์ที่ใช่ อยู่ในงบประมาณที่ตั้งใจเอาไว้ ตามไปอ่านกันได้เลย
ประกันรถยนต์มีกี่ประเภท และแต่ละประเภทให้ความคุ้มครองอย่างไร?
โดยทั่วไป ประกันรถยนต์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งประกันรถยนต์แบบแรกนั้น เป็นประกันที่บังคับให้เจ้าของรถทุกคนต้องทำ ส่วนประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นประกันที่เจ้าของรถสามารถเลือกสมัครรับความคุ้มครองได้เองตามความต้องการ ส่วนใหญ่แบ่งย่อยได้อีก 5 ประเภท คือ ประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถยนต์ชั้น 2+, ประกันรถยนต์ชั้น 2, ประกันรถยนต์ชั้น 3+ และประกันรถยนต์ชั้น 3 ซึ่งมีรายละเอียดความคุ้มครองแตกต่างกัน ดังนี้
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1
ประกันรถยนต์ชั้น 1 ถือเป็นประกันที่ได้รับความนิยมมาก และเหมาะกับมือใหม่ที่มีงบประมาณในการจ่ายค่าเบี้ยประกัน เพราะประกันประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองสูงสุดและครอบคลุมมากที่สุด โดยจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์แทบทุกเคส ทั้งอุบัติเหตุที่มีและไม่มีคู่กรณี รถไฟไหม้ เสียหายจากภัยธรรมชาติ สูญหายหรือถูกโจรกรรม สำหรับอุบัติเหตุที่มีคู่กรณี นอกจากประกันรถยนต์ชั้น 1 จะคุ้มครองฝั่งเจ้าของรถ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกแล้ว ยังรับผิดชอบครอบคลุมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ชีวิต และร่างกายของคู่กรณีตามวงเงินความคุ้มครองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้เอาประกันทำผิดเงื่อนไข เช่น ดัดแปลงตัวรถ ใช้รถยนต์ผิดประเภท ดื่มแล้วขับ ประกันชั้น 1 จะไม่ให้ความคุ้มครอง
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+ และ 2
ประกันรถยนต์ชั้น 2+ จะให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับประกันชั้น 1 มาก โดยให้ความคุ้มครองในกรณีรถไฟไหม้ เสียหายจากภัยธรรมชาติ และถูกโจรกรรม แต่มีข้อที่แตกต่างกับประกันชั้น 1 หลัก ๆ คือ ประกันรถยนต์ชั้น 2+ จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของผู้เอาประกันเฉพาะเคสรถชนรถ (รถยนต์ชนกับยานพาหนะทางบก) ที่มีคู่กรณีเท่านั้น ทั้งยังคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่กรณีและบุคคลภายนอกด้วย ดังนั้น หากเกิดเคสรถชนต้นไม้ สุนัขตัดหน้า ชนข้างทาง หรืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่พาหนะทางบก บริษัทประกันภัยจะไม่รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถของผู้เอาประกัน เนื่องจากไม่อยู่ในความคุ้มครองของประกันรถยนต์ชั้น 2+
ส่วนประกันรถยนต์ชั้น 2 นั้น จะให้ความคุ้มครองรถยนต์ของผู้เอาประกันเฉพาะในกรณีรถเกิดไฟไหม้หรือสูญหายเท่านั้น และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแม้ว่าประกันรถยนต์ประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สิน ชีวิต และร่างกายของคู่กรณี แต่ในฝั่งเจ้าของรถ บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบความเสียหายของรถยนต์ให้ เจ้าของรถจึงต้องออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น ก่อนเลือกซื้อประกันรถประเภทนี้ อย่าลืมวางแผนการเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านนี้ไว้ด้วย
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3+ และ 3
ส่วนใหญ่แล้วประกันรถยนต์ชั้น 3+ จะให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับประกันชั้น 2+ โดยจะให้ความคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของคู่กรณีตามวงเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์หากผู้ขับขี่ไปชนคันอื่น แต่จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ของผู้เอาประกันในกรณีอุบัติเหตุรถชนรถด้วยกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประกันชั้น 3+ จะไม่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ รถสูญหายหรือถูกโจรกรรม
ส่วนประกันรถยนต์ชั้น 3 ถือเป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน มีค่าเบี้ยไม่แพง แต่จะไม่ให้ความคุ้มครองรถยนต์ของผู้ทำประกันในทุกกรณี หากผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิดจะให้ความคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของคู่กรณี โดยรับผิดชอบไม่เกินวงเงินที่ระบุไว้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หากผู้เอาประกันขับรถไปชนรถยนต์คู่กรณีเสียหาย บริษัทประกันจะชดเชยค่าซ่อมรถที่เกิดขึ้นตามจริงแทนคุณ แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ทำประกันเอาไว้นั่นเอง
ประกันรถยนต์แต่ละประเภท เหมาะกับใคร?
แน่นอนว่าประกันรถยนต์แต่ละประเภทตอบโจทย์เจ้าของรถยนต์ไม่เหมือนกัน โดยอาจพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย ก่อนตัดสินใจทำประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการขับขี่ รุ่นรถยนต์ สถานที่จอดรถประจำว่าปลอดภัยแค่ไหน ไลฟ์สไตล์การขับขี่ของคุณมีลักษณะอย่างไร ฯลฯ และเช็กราคาค่าเบี้ยว่าสอดคล้องกับงบประมาณที่ตั้งไว้แค่ไหน จะได้เลือกประกันรถยนต์ที่ตรงกับการใช้งานจริง มั่นใจได้ว่าประกันที่เลือกซื้อให้ความคุ้มครองครบถ้วนตามต้องการ และคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ยกตัวอย่างเช่น
· ประกันรถยนต์ชั้น 1 เหมาะกับเจ้าของรถที่ยังเป็นมือใหม่ ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในการขับขี่มากนัก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง อีกทั้งยังตอบโจทย์ผู้ที่เดินทางไกลบ่อย ๆ เพราะอย่างที่ทราบกันแล้วว่า ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่สามารถทำประกันชั้น 1 ได้ จะต้องเป็นรถใหม่หรือเป็นรถที่มีอายุไม่เกิน 7 ปีเท่านั้น
· ประกันรถยนต์ชั้น 2+ และ 2 เหมาะสำหรับเจ้าของรถที่ใช้งานรถไม่บ่อยนัก หรือผู้ที่มีความรอบคอบและชำนาญในการขับขี่ระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องจอดรถในสถานที่เปลี่ยวเป็นประจำ รวมถึงผู้ที่ต้องการจ่ายค่าเบี้ยถูกลงกว่าประกันชั้น 1 แต่ได้รับความคุ้มครองใกล้เคียงกัน แต่อย่าลืมว่าประกันรถชั้น 2+ จะให้ความคุ้มครองเฉพาะเคสรถชนรถที่มีคู่กรณีเท่านั้น ส่วนประกันรถยนต์ชั้น 2 จะไม่รับผิดชอบค่าซ่อมรถของผู้เอาประกันหากเกิดอุบัติเหตุเลย ดังนั้น แม้ว่าค่าเบี้ยต่อปีจะถูก แต่หากคุณมีประวัติเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่บ่อยครั้ง อาจลองชั่งน้ำหนักดูว่าประกันแบบนี้คุ้มค่าและเหมาะกับคุณหรือไม่
· ประกันรถยนต์ชั้น 3+ และ 3 เหมาะกับผู้ที่นาน ๆ ครั้งจะใช้งานรถ จอดรถในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ รถมีอายุหลายปี หรือเหมาะกับเจ้าของรถที่มีความชำนาญในการขับขี่หรือไม่มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุมากนัก นอกจากนี้ ประกันรถยนต์ชั้น 3+ และ 3 ยังเหมาะกับผู้ที่อยากประหยัดค่าเบี้ยประกันรถยนต์อีกด้วย
ขั้นตอนการซื้อประกันรถที่มือใหม่เข้าใจง่าย ๆ
วิธีการซื้อประกันรถอาจมีขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แล้วแต่บริษัทประกันนั้น ๆ กำหนด แต่โดยปกติแล้ว วิธีการซื้อประกันรถยนต์ทำได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก และหากเตรียมเอกสารสำหรับกรอกข้อมูลไว้ครบถ้วนก็จะทำให้การสั่งซื้อรวดเร็วขึ้นได้
1. เข้าหน้าเว็บไซต์ของบริษัทประกันที่สนใจเลือกซื้อ จากนั้นเลือกประเภทของประกันรถยนต์ที่สนใจ
2. กรอกข้อมูลที่จำเป็น อย่างข้อมูลผู้ขับขี่และข้อมูลรถยนต์ เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ยี่ห้อรถ ปีที่ผลิตรถ ลักษณะการใช้งานรถ ฯลฯ เพื่อรับใบเสนอราคาหรือข้อมูลค่าเบี้ยประกันเบื้องต้น ซึ่งบริษัทประกันบางเจ้า อาจจะมีให้ปรับแต่งแผนความคุ้มครองในกรมธรรม์ได้เองก่อนกดส่งข้อมูลอีกด้วย
3. หลังจากได้รับข้อมูลเบื้องต้นตาม ข้อ 2. ส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่บริษัทประกันจะทำการติดต่อกลับเจ้าของรถ เพื่อนำเสนอรายละเอียดแผนประกันรถยนต์ที่เหมาะสมให้
4. เมื่อได้แผนประกันรถยนต์ที่ตอบโจทย์แล้ว เจ้าหน้าที่อาจให้ความช่วยเหลือในการสั่งซื้อประกันรถยนต์ หรือเจ้าของรถจะทำการสั่งซื้อด้วยตนเองก็ได้
5. เมื่อสมัครรับความคุ้มครองเสร็จสิ้นแล้ว รอรับกรมธรรม์ภายในระยะเวลาทำการของบริษัทประกันที่เลือกซื้อ ซึ่งในปัจจุบันสามารถเลือกรับใบกรมธรรม์ทางออนไลน์ได้ด้วย และเมื่อได้รับแล้ว ควรตรวจเช็กข้อมูลให้ถูกต้องก่อนเซ็นต์รับกรมธรรม์ประกันรถยนต์
รู้ข้อมูลแบบนี้แล้ว เจ้าของรถมือใหม่คงจะมีแนวทางเลือกซื้อประกันรถยนต์ที่ตรงใจได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม รายละเอียดความคุ้มครองของประกันแต่ละประเภทและราคาค่าเบี้ยประกัน อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทประกัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ยี่ห้อ รุ่น ประเภทของรถยนต์ได้ ก่อนตัดสินใจซื้อประกันรถจึงควรศึกษาทำความเข้าใจ เปรียบเทียบค่าเบี้ยประกันรถหลาย ๆ บริษัท หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ให้กระจ่างเสียก่อน และเมื่อสมัครรับความคุ้มครองแล้ว อย่าลืมจัดสรรการเงินให้ถี่ถ้วน
การซื้อประกันรถยนต์ไว้ ถือเป็นการป้องกันการเกิดความเสี่ยงทางการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินสดใช้จ่ายเกี่ยวกับรถของคุณ เช่น ค่าส่วนต่างที่ประกันไม่คุ้มครอง รถเสียที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ การมีบัตรกดเงินสดติดตัวไว้ใช้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งบัตรกดเงินสดยูเมะพลัสนั้น สมัครได้ง่าย ๆ ทางออนไลน์ มาพร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% นาน 30 วัน* และสิทธิประโยชน์มากมาย และแม้สมัครไว้แล้วไม่ได้ใช้ ก็ไม่เกิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม จึงไม่เป็นการสร้างภาระทางการเงินให้แก่คุณอีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถเช็กคุณสมบัติและสมัครผ่านทางออนไลน์ได้ที่ > https://www.umayplus.com/cashcard/applyform
*เพียงมียอดเบิกถอนเงินสดภายใน 30 วันหลังจากได้รับการอนุมัติ (เฉพาะยอดเบิกถอนภายในวันแรก สำหรับลูกค้าใหม่) หลังจบรายการส่งเสริมการขายอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นอัตราดอกเบี้ย 19.8% - 25% ต่อปี, ดูเงื่อนไขได้ที่เว็บไซต์ยูเมะพลัส, กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว