“ความฉลาดทางการเงิน” กุญแจสำคัญสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน และยังเป็นวิธีที่จะทำให้คุณสามารถจัดการการใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ซึ่งวันนี้เรามีเทคนิคดี ๆ ในการบริหารจัดการเงินที่สามารถทำตามได้ง่ายมาฝากกัน

ความฉลาดทางการเงิน หรือ Money Literacy คืออะไร ?
ความฉลาดทางการเงิน (Money Literacy) คือ ทักษะหรือความสามารถในการหารายได้ ทั้งรายได้ประจำและรายได้เสริม การบริหารรายจ่าย การเก็บออม และการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ให้งอกเงย รวมไปถึงการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาทางการเงิน ให้มีสภาพคล่อง อยู่ในสภาวะที่ไม่มีปัญหา ซึ่งคุณเองก็สามารถทำได้ ด้วย 7 เทคนิคบริหารเงินที่เรานำมาฝากกัน

7 เทคนิคบริหารเงินง่าย ๆ ที่คุณเริ่มได้ด้วยตัวเอง
1. ทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อกำหนดงบการเงินที่ใช้ได้
เริ่มแรก ควรทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อคำนวณว่าในแต่ละเดือน มีรายรับและรายจ่ายประจำอะไรบ้าง ควรแบ่งงบการเงินสำหรับใช้จ่ายและชำระหนี้โดยเฉพาะ การทำเช่นนี้จะชี้ให้เห็นว่า ท้ายที่สุดคุณใช้จ่ายไปกับอะไรมากที่สุด มีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากงบที่ตั้งไว้มากน้อยแค่ไหน ทำให้คุณสามารถเรียงลำดับความสำคัญ จัดหมวดหมู่ประเภทของค่าใช้จ่ายออกมาได้ และยังช่วยคงพฤติกรรมการใช้เงินที่ดีในระยะยาว

2. ลดและควบคุมการใช้จ่าย
เมื่อทราบแล้วว่า ในแต่ละเดือนมีสภาวะการเงินแบบไหน มีการใช้เงินเกินกำหนดในหมวดใด ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ลดและควบคุมการใช้จ่าย โดยตัดค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นอันดับแรก

3. ออมเงินและสำรองเงินก้อนเผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
ควรออมเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยออม 1 ใน 4 ของรายได้ โดยแนะนำให้ออมเงินทันทีเมื่อมีรายรับ เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน และอย่าลืมสำรองเงินก้อนฉุกเฉิน 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เมื่อมีเหตุไม่คาดฝันหรือมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นนอกแพลน เช่น ค่าแอดมิต ค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว ค่าเทอมลูก ก็สามารถนำเงินก้อนนี้มาใช้ได้ และจะยิ่งดีกว่า ถ้าหากคุณมีเงินออมสำหรับอนาคต อย่างเงินออมเพื่อการเกษียณ

4. หา Passive Income ให้กับตัวเอง
Passive Income ที่มักจะได้ยินกันบ่อยครั้ง ก็เหมือนกับการลงทุนหนึ่งครั้ง แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องลงมือหรือลงเงินทุกครั้ง เช่น การฝากเงินในธนาคาร เพื่อรับดอกเบี้ย การลงทุนกับกองทุนรวม ตราสารหนี้ หุ้น หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้ปล่อยเช่า เพื่อรับเงินค่าเช่ารายเดือน แต่หากใครที่มีงบประมาณทางการเงินมากขึ้น อาจขยับไปหา Passive Income อย่างการลงทุนแฟรนไชส์ หรือใครที่มีงานอดิเรก การสร้าง Online Content หารายได้เสริม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมกันในปัจจุบัน

5. ลงทุนตามความถนัด เพื่อเพิ่มรายได้
การลงทุนอาจจะเป็นเรื่องที่ดูไกลตัว แต่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางการเงินโดยตรง ซึ่งอาจแบ่งเป็น การลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนโดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การซื้อหุ้น ซึ่งมักจะได้ผลตอบแทนสูง แต่ยังคงต้องระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และการลงทุนในระยะยาว ใช้เวลาค่อนข้างนานในการรอรับผลตอบแทน แต่กระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า อย่างกองทุนรวม ที่มีให้เลือกหลากหลายกองทุน รวมถึงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ บ้าน คอนโด หรือแม้แต่การปล่อยเช่าที่ดิน ที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ความเสี่ยงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลงทุนทุกรูปแบบ ควรตระหนักไว้เสมอว่า ต้องศึกษา ทำความเข้าใจอย่างละเอียด และประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ต้น

6. หลีกเลี่ยงการค้ำประกันให้กับผู้อื่น
เทคนิคบริหารเงินข้อสำคัญที่ไม่ควรละเลย คือ ควรหลีกเลี่ยงการค้ำประกันทุก ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ บ้าน หรืออื่นใดก็ตาม ถึงจะเป็นการเซ็นค้ำประกันให้คนใกล้ตัวที่สนิทสนม เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ผู้ค้ำประกันอาจเป็นหนี้โดยที่ไม่ได้ก่อ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกันมากขึ้นแล้วก็ตาม นอกจากนั้น ยังทำให้เสียความน่าเชื่อถือ หรือผิดใจกันโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

7. รักษาเครดิตด้านการเงินให้ดี
เริ่มจากการชำระค่าบัตรกดเงินสดให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการชำระขั้นต่ำ เพราะมีแต่จะสร้างภาระหนี้สิน อีกทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ตามมา และไม่ควรผ่อนชำระสินค้าไม่ตรงงวด หรือค้างหนี้สะสมเป็นระยะเวลานาน สุดท้ายแล้ว หากคุณต้องการทำธุรกรรม ธนาคารอาจนำมาประกอบการพิจารณา ดูประวัติและความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณทำธุรกรรมทางการเงินได้ยากในอนาคต ดังนั้น การมีเครดิตด้านการเงินที่ดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

แต่หากใครที่วางแผนทางการเงินอย่างดีแล้ว แต่ยังต้องเจอกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ต้องการเงินสำรองหรืออยากปิดยอดหนี้ เพื่อบริหารจัดการการเงินของตัวเองให้ดีขึ้น การมีบัตรกดเงินสดติดตัวไว้ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี และสร้างความอุ่นใจได้ไม่น้อย

ซึ่งบัตรกดเงินสดยูเมะพลัสมาพร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย สามารถสมัครผ่านทางออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% นาน 30 วัน* และแม้สมัครไว้แล้วไม่ได้ใช้ ก็ไม่เกิดค่าใช้จ่ายใด ๆ จึงตอบโจทย์ผู้ที่กำลังบริหารจัดการเงินอย่างยิ่ง
*เพียงมียอดเบิกถอนเงินสดภายใน 30 วันหลังจากได้รับการอนุมัติ (เฉพาะยอดเบิกถอนภายในวันแรก สำหรับลูกค้าใหม่) หลังจบรายการส่งเสริมการขายอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นอัตราดอกเบี้ย 19.8% - 25% ต่อปี, ดูเงื่อนไขได้ที่เว็บไซต์ยูเมะพลัส, กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว