การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีนั้นมีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้เราได้รู้ว่าระบบภายในร่างกายยังสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ มีส่วนไหนผิดปกติหรือเปล่า อีกทั้งช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรค ช่วยป้องกัน และลดความรุนแรงของโรค ในกรณีที่ตรวจพบว่าร่างกายผิดปกติอีกด้วย ซึ่งปกติแล้วการตรวจสุขภาพควรทำตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยแต่ละช่วงอายุก็จะมีรายการตรวจสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป เช่น

• ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แนะนำให้เข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และควรตรวจทุก 1-2 ปี
• ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเพื่อตรวจหาเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) แต่ในกรณีที่ผลออกมาเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถมาเข้ารับการตรวจทุก ๆ 3 ปี ได้
• ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
• ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากปีละ 1 ครั้ง
• ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ตรวจการทำงานของตับ ไต และถุงน้ำดี
• ผู้ชาย และผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจการทำงานของหัวใจและความแข็งแรงของกระดูก
• ผู้ชาย และผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพมากเป็นพิเศษ แนะนำให้ตรวจความหนาแน่นของกระดูกสันหลังส่วนเอวกับสะโพก รวมถึงทดสอบการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อทราบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

“กันไว้ดีกว่าแก้” ยังคงเป็นสำนวนที่ใช้ได้จริงเสมอ ดังนั้น ก่อนที่โรคจะลุกลามจนยากที่จะรักษา การตรวจสุขภาพประจำปีถือว่าเป็นเกราะป้องกันชั้นดีที่จะทำให้คุณรู้ทันสุขภาพร่างกาย หากตรวจพบเจอโรคเร็ว ก็ยิ่งรักษาหายได้เร็ว

ประกันสุขภาพมีกี่แบบ คุ้มครองอะไรบ้าง
แม้ว่าคุณจะมีสุขภาพที่ดีตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีไม่ขาด ไม่ได้หมายความว่าชีวิตนี้ไม่ต้องมีประกันสุขภาพก็ได้ เพราะอนาคตไม่มีใครหยั่งรู้ว่าวันนี้แข็งแรงแต่อีก 1 เดือนต่อมาร่างกายกลับป่วย ดังนั้น การมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอาไว้ ยังไงก็สบายใจกว่าเยอะ และเพื่อให้เป็นการทำความเข้าใจในประกันสุขภาพ มาดูกันว่าประกันสุขภาพนั้นมีกี่รูปแบบ และประเภทไหนคุ้มครองอะไรบ้าง

• ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD)
เป็นแผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันในกรณีที่เจ็บป่วย และจำเป็นที่จะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตามคำวินิจฉัยของแพทย์เจ้าของไข้

• ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD)
เป็นแผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันที่มีอาการเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลแต่ไม่ถึงขั้นที่จะต้องแอดมิด

• ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (ECIR)
เป็นแผนประกันที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมโรคร้ายแรง จำเป็นต้องมีการรักษาแบบเฉพาะทาง ซับซ้อน ใช้เวลารักษานาน และแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสูง

• ประกันอุบัติเหตุ (PA)
เป็นแผนประกันที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันในเคสที่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตลอดจนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้น

• ประกันชดเชยรายได้
เป็นแผนประกันที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันในขณะที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยบริษัทฯ จะชดเชยเป็นรายวันระหว่างที่คุณยังไปทำงานไม่ได้ และขอกาดอกจันเล็ก ๆ ว่าประกันชดเชยรายได้นี้จะจ่ายสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

ขอเน้นอีกนิดว่า หลายคนมักจะทำประกันสุขภาพที่สนใจควบคู่ไปกับการทำประกันชดเชยรายได้ เหตุผลก็เพราะได้ลดทั้งภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาพยาบาล และในอีกทางหนึ่งก็ไม่ต้องห่วงเรื่องรายได้ในระหว่างรักษาตัวนั่นเอง

เกณฑ์การเลือกซื้อประกันสุขภาพให้เหมาะกับตัวเอง
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าต้องการประกันสุขภาพแบบไหน แต่ถ้าใครยังลังเลไม่แน่ใจเรามาไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กัน

1. ว่าด้วยเรื่องการเลือกซื้อประกันสุขภาพให้เหมาะกับตนเองนั้น อันดับแรกเราอยากให้ทุกคนหันกลับมามองที่ตนเองก่อน ประเมินอย่างถี่ถ้วนทั้งในเรื่องของสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ตลอดจนกรรมพันธุ์ ว่ามีความเสี่ยงในระดับใด ณ ที่นี้รวมถึงสุขภาพทางการเงินด้วย ง่าย ๆ คือลองจินตนาการว่าหากวันหนึ่งเจ็บป่วยหนักขึ้นมา เงินเก็บที่มีอยู่จะสามารถรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้ได้ไหม ตั้งแต่บัตรทอง ประกันสังคม ประกันกลุ่ม (สวัสดิการพนักงานในบางบริษัท) ลองคำนึงดูว่าสิทธิด้านสุขภาพที่ตนเองมีนั้นเพียงพอหรือไม่

2. เบี้ยประกันภัยก็เป็นตัวชี้วัดว่าตัวเราเองส่งไหวหรือไม่ไหว ดังนั้น การเลือกประกันสุขภาพที่ความคุ้มครองแมตช์กับงบประมาณของเราก็เป็นเรื่องที่ต้องนำมาคิดเช่นเดียวกัน

3. อ่านเงื่อนไข รายละเอียดความคุ้มครอง ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ให้ดีก่อนตกลงซื้อประกัน

4. ชื่อเสียงของบริษัทประกันก็ควรนำมาพิจารณาด้วย ถ้าบริษัทมั่งคง ภาพลักษณ์ดีไม่มีข่าวเสียหาย ผู้เอาประกันที่ถือกรมธรรม์บริษัทนั้น ๆ อยู่ในมือแน่นอนว่าต้องรู้สึกอุ่นใจไปด้วย

แต่หากคุณยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะทำประกันสุขภาพ อย่างน้อย ๆ ก็ควรมีเงินสดสำรองสำหรับใช้จ่ายยามเจ็บป่วย เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ บัตรกดเงินสดยูเมะพลัส สามารถช่วยสร้างความอุ่นใจเรื่องนี้ได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% นานถึง 30 วัน* หรือหากสมัครไว้แล้วไม่ได้ใช้ก็ไม่เกิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

*เพียงมียอดเบิกถอนเงินสดภายใน 30 วันหลังจากได้รับการอนุมัติ (เฉพาะยอดเบิกถอนภายในวันแรก สำหรับลูกค้าใหม่) หลังจบรายการส่งเสริมการขายอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นอัตราดอกเบี้ย 19.8% - 25% ต่อปี, ดูเงื่อนไขได้ที่เว็บไซต์ยูเมะพลัส, กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว