เมื่อก้าวพ้นรั้วมหาวิทยาลัยสู่วัยทำงาน สิ่งที่ First Jobber ต้องเตรียมตัวอีกอย่างหนึ่ง คือ การวางแผนทางการเงินให้มีเงินเหลือใช้เหลือเก็บ รวมไปถึงศึกษาเรื่องการลงทุน และภาษี หากวางรากฐานไว้อย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน ยิ่งทำให้ชีวิตในอนาคตข้างหน้าดำเนินไปอย่างสะดวกสบายมากขึ้น ชีวิตไม่มีติดลบแน่นอน ในบทความนี้เราได้รวบรวมความรู้ด้านการเงินเบื้องต้นที่เหล่า First Jobber ควรรู้ติดตัวไว้มาให้แล้ว

การจัดการรายรับ-รายจ่าย

สิ่งแรกที่เหล่า First Jobber ควรรู้คือ “การจัดการรายรับ-รายจ่าย” การที่เรารู้ว่ารายรับ-รายจ่ายต่อเดือนเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ จะทำให้เราจัดสรรแบ่งส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยเราสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำวัน จะจดบันทึกด้วยตัวเอง หรือใช้แอปพลิเคชันก็ได้

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกรายรับ-รายจ่ายทางการเงินมากมาย ที่จะช่วยสรุปยอดค่าใช้จ่ายประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน รวมไปถึงประจำปีได้ แถมยังแบ่งหมวดหมู่ประเภทของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ทำให้เราทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเห็นภาพรวมค่าใช้จ่ายของตนเองว่าใช้จ่ายในหมวดหมู่ประเภทใดมากที่สุดอีกด้วย

การจัดการเงินออม-การลงทุน

เมื่อสามารถจำแนกรายรับ-รายจ่ายของตนเองเป็นหมวดหมู่ได้แล้ว อีกหนึ่งขั้นตอนในการวางแผนทางการเงินที่สำคัญ คือ การจัดสรรเงินของตนเองมา “เก็บออม และลงทุน” ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน

เราสามารถเริ่มเก็บออมได้ง่าย ๆ โดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากรายรับอย่างน้อย 10% ของรายได้ นำมาเก็บออมเงินไว้ ก่อนที่จะแบ่งไปใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ เมื่อมีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายยามจำเป็นอย่างน้อย 3 - 6 เดือนแล้ว การลงทุนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เงินออมของเราเพิ่มพูนได้มากขึ้น จะลงทุนในทองคำ กองทุนรวม หุ้น หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็เป็นทางเลือกที่ดี

ทั้งนี้ การลงทุนควรทำด้วยความรู้ความเข้าใจ ศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่ตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ ไม่ควรลงทุนตามคนอื่น และทำแบบประเมินความเสี่ยงที่ตนเองสามารถรับได้ก่อนทำการลงทุนทุกครั้ง

การวางแผนภาษี

ต่อมาเมื่อเริ่มมีรายได้จากการทำงาน สิ่งที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจอีกหนึ่งเรื่องก็คือ “การวางแผนภาษี” การจ่ายภาษีนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ถือเป็นหน้าที่พลเมืองอย่างหนึ่ง เพื่อให้ภาครัฐนำเงินภาษีดังกล่าวไปพัฒนาประเทศ หากมีความตั้งใจที่จะปฏิเสธการจ่ายภาษี หรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีย่อมถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย

เมื่อมีรายได้มากขึ้นภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น หากมีการวางแผนการลดหย่อนภาษีที่ดี จะช่วยลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้

โดยเราสามารถศึกษาข้อมูลการหักลดหย่อนภาษีได้บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และแหล่งให้ความรู้ทางการเงินต่าง ๆ

ผู้มีเงินได้ย่อมมีสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีตามหลักเกณฑ์ของสรรพากร เช่น หมวดค่าใช้จ่ายส่วนตัว หมวดค่าดูแลบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นต้น ทั้งนี้หากต้องการวางแผนลดหย่อนภาษีในแต่ละปีให้ลดหย่อนได้มากขึ้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี อาจลงทุนในกองทุน SSF RMF หรือ กองทุน ThaiESG ซื้อประกันชีวิต และประกันสุขภาพของตนเอง รวมไปถึงบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ เป็นต้น

การตั้งเป้าหมายทางการเงิน

การตั้งเป้าหมายทางการเงินเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามีทิศทางในการบริหารค่าใช้จ่ายของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการทำตามเป้าหมายทางการเงินให้สำเร็จ เราควรตั้งเป้าหมายตามหลัก SMART ดังนี้

  • S - Specific ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
  • M - Measurable ตั้งเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้
  • A - Accountable ตั้งเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้จริง
  • R - Realistic ตั้งเป้าหมายที่สามารถบรรลุผลได้
  • T - Time Bound ตั้งเป้าหมายที่มีกำหนดเวลาชัดเจน

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งการตั้งเป้าหมายทางการเงินได้ตามระยะเวลา ดังนี้

  • เป้าหมายทางการเงินระยะสั้น (Short-term Goal) เป็นการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จโดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่น ต้องการออมเงินจำนวน 40,000 บาท เพื่อนำไปซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ในอีก 1 ปีข้างหน้า เป็นต้น
  • เป้าหมายทางการเงินระยะกลาง (Intermediate-term Goal) เป็นการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จโดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2-5 ปี เช่น ต้องการออมเงินจำนวน 500,000 บาท เพื่อนำไปศึกษาต่อต่างประเทศระยะสั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เป็นต้น
  • เป้าหมายทางการเงินระยะยาว (Long-term Goal) เป็นการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จโดยใช้ระยะเวลา 5 ปีขึ้นไป เช่น ต้องการออมเงินเป็นจำนวน 10,000,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในวัยเกษียณ เป็นต้น

การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดี และชัดเจน จะเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมเงินให้ได้ตามเป้าหมายจนสำเร็จ และช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้น

ความรู้ด้านสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด

อีกสิ่งหนึ่งที่เหล่า First Jobber ควรรู้คือ “ความรู้ด้านสินเชื่อ” ว่ามีกี่ประเภท มีเงื่อนไขการขอสินเชื่ออย่างไร ซึ่งเงื่อนไขมักแตกต่างกันไปแล้วแต่สถาบันการเงิน วิธีการใช้งานเป็นอย่างไร และอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ การเลือกสินเชื่อนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยประเภทของสินเชื่อสามารถแบ่งได้เบื้องต้น ดังนี้

1. สินเชื่อส่วนบุคคล

เป็นการขอวงเงินสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน เมื่อได้รับอนุมัติวงเงินดังกล่าวจะถูกโอนเข้าบัญชีผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลโดยตรง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวงเงินสินเชื่อสูง และระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาว เช่น 12, 18, 24 งวด ซึ่งสามารถแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ เท่ากันได้ แต่หากจ่ายหลังวันครบกำหนดต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สถาบันการเงินกำหนด โดยแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไป

เมื่อเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานของเราได้แล้ว อย่าลืมเปรียบเทียบว่าสถาบันการเงินไหนคิดดอกเบี้ยต่ำที่สุด จ่ายเงินสะดวก และมีเงื่อนไขการชำระเงินที่ช่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน รวมไปถึงสิทธิพิเศษจากห้างร้านที่มีร่วมกับสถาบันการเงินด้วย

ทั้งนี้ หากตัดสินใจใช้สินเชื่อไม่ว่าประเภทใด ควรวางแผนการใช้อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สินเกินตัวในภายหลัง

2. บัตรเครดิต

บัตรเครดิตเหมาะแก่ผู้ที่ไม่อยากพกเงินสดจำนวนมาก สามารถใช้รูดชำระแทนเงินสดได้ตามวงเงินที่สถาบันการเงินกำหนดให้ และสามารถทำการแบ่งผ่อนชำระยอดใช้จ่ายได้ โดยวงเงินดังกล่าวจะมาจากการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของเรา และกำหนดรอบระยะเวลาชำระเงินให้ เช่น ตัดรอบบัญชีทุกวันที่ 10 และชำระเงินภายในวันที่ 20 เป็นต้น

หากชำระเงินครบภายในวันที่กำหนด จะไม่เสียดอกเบี้ยเลย แต่หากชำระเงินไม่ครบ สถาบันการเงินจะทำการคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่สถาบันการเงินกำหนดนับตั้งแต่วันที่รูดชำระยอดเงินดังกล่าว บัตรเครดิตสามารถกดเงินสดได้ แต่อัตราดอกเบี้ยนั้นสูง และอาจต้องชำระค่าเบิกถอนเงินสดด้วย

3. บัตรกดเงินสด

บัตรกดเงินสดเหมาะแก่ผู้ต้องการใช้เงินสดยามจำเป็น และสามารถชำระคืนได้รวดเร็ว เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบัตรเครดิต และจะคิดดอกเบี้ยทุกวันนับตั้งแต่วันที่ใช้วงเงินจนถึงวันที่เราชำระเงินครบ

การเริ่มต้นเรียนรู้ และจัดการการเงินสำหรับ First Jobber เป็นก้าวสำคัญที่ช่วยสร้างอนาคตที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการรายรับ-รายจ่าย การออมเงิน การลงทุน การวางแผนภาษี หรือการตั้งเป้าหมายทางการเงิน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวางแผนการเงินที่ดี จะช่วยให้เรามีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นก็จะสามารถรับมือได้ ทั้งนี้ขอแนะนำอีกหนึ่งตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจอย่าง “บัตรกดเงินสดยูเมะพลัส” ที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษกดเงินสดดอกเบี้ย 0% นาน 30 วัน* และสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวงเงินออนไลน์ ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน กดเงินสดไม่ใช้บัตร และบริการอื่น ๆ อีกมากมาย ที่สามารถทำได้บน Umay+ Application ที่หากสมัครไว้แล้วไม่ได้ใช้ก็ไม่เกิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

หากสนใจสามารถสมัครบัตรกดเงินสดยูเมะพลัสผ่านทางออนไลน์ได้ที่ https://www.umayplus.com/cashcard/applyform ตลอด 24 ชั่วโมง

หมายเหตุ

*เพียงมียอดเบิกถอนเงินสดภายใน 30 วันหลังจากได้รับการอนุมัติ (เฉพาะยอดเบิกถอนภายในวันแรก สำหรับลูกค้าใหม่) หลังจบรายการส่งเสริมการขายอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นอัตราดอกเบี้ย 19.8% - 25% ต่อปี, กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว, ดูเงื่อนไขได้ที่เว็บไซต์ยูเมะพลัส