โมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking)ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย  

     ยุคนี้ใครๆ ก็ใช้ Mobile Banking และ Internet Banking บริการจากการเงินที่สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการใช้บริการ ทำให้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย โอน ถอน กดเงินไม่ใช้บัตร ตรวจสอบยอดวงเงินคงเหลือหรือยอดที่ค้างชำระ ก็สามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน 

แต่ความสะดวกสบายนี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพได้เช่นกัน ดังนั้นเราจะใช้ Mobile Banking หรือ Internet Banking อย่างไรให้ปลอดภัย มาดูกันเลย

อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) และโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) คืออะไร

อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง  (Internet Banking) 

     หรือ ธนาคารออนไลน์ คือ บริการธุรกรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สถาบันการเงินต่างๆ พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น โอนเงิน ชำระค่าสินค้าและค่าบริการ สอบถามยอดเงิน หรือขอรายการเดินบัญชีบนเว็บไซต์ ทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องไปรอคิวเพื่อขอรับบริการจากสถาบันการเงินอีกต่อไป

โมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking)

     คือ บริการธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน ที่ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสามารถ เบิกถอน โอน จ่ายบิล หรือชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านสมาร์ตโฟน ทำให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ Mobile Banking ยังมีฟีเจอร์อำนวยความสะดวกและบริการที่หลากหลายมอบให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการอีกด้วย อาทิ

  • บริการกดเงินไม่ใช่บัตร หากลืมบัตร ก็ยังสามารถกดเงินได้ สะดวกสุดๆ 
  • บริการหักบัญชีธนาคารอัตโนมัติ การลืมจ่ายเงินก็จะเป็นปัญหาอีกต่อไป
  • Notification แจ้งเตือนโปรโมชัน ช่วยให้คุณไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว
  • บริการใบแจ้งยอดบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบได้ทุกเวลาและไม่ต้องเก็บกระดาษอีกต่อไป
  • บริการขอเพิ่มวงเงิน สามารถทำได้เอง โดยที่ไม่ต้องไปที่สาขา

การสมัครใช้งาน

การสมัครโมบายแบงก์กิ้งสามารถทำได้ด้วยตัวเองไม่ยาก เพียงแค่มีสมาร์ตโฟน และอินเทอร์เน็ต ก็สามารถสมัครใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินที่คุณใช้บริการ

2. ใส่ข้อมูลที่แอปพลิเคชันต้องการ เช่น รหัสบัตรเดบิต* (*บางสถาบันการเงินสามารถใช้หมายเลขบัตรเครดิตแทนได้ ในกรณีที่ไม่มีบัตรเดบิต) รหัสบัตร หมายเลขบัตรประชาชน เป็นต้น เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน

3. กำหนดรหัสผ่าน (PIN) ซึ่งมักจะเป็นเลข 6 หลัก เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งาน

หรือสามารถสมัครผ่านสาขา, ATM ทำรายการและยืนยันตัวตนตามขั้นที่ตอนกำหนดเพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานโมบายแบงก์กิ้งได้แล้ว

ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย

  1. การตั้งค่า PIN หรือ Password ไม่ควรง่ายต่อการคาดเดา ควรใส่อักขระพิเศษ เช่น ! @ $ % ผสมเข้าไปด้วย เพื่อให้ยากต่อการคาดเดา
  2. เปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งาน 
  3. หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อ WiFi สาธารณะ เพื่อป้องกันข้อมูลการใช้งานรั่วไหล
  4. เปิดเผยข้อมูลในโซเชียลมีเดียเท่าที่จำเป็น 
  5. เปิดการแจ้งเตือน และตรวจเช็ก SMS หรืออีเมลที่ได้รับจาสสถาบันการเงินอยู่เสมอ
  6. ซื้อสินค้าหรือบริการ จากร้านค้าหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ 
  7. ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือทุกครั้งที่มีการชำระเงิน 
  8. พยายามหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมการเงิน หรือไม่ผูกข้อมูลบัตรเครดิตกับร้านค้าออนไลน์
  9. อ่านข้อมูลให้ละเอียด ดูให้ถี่ถ้วน มีสติ และรอบคอบทุกครั้งที่ทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้
  10. หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้แหล่งที่มา หรือดูน่าสงสัย
  11. Log out ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

รู้ทันกลโกงธุรกรรมบนออนไลน์

    ยุคของอินเทอร์เน็ตอะไรก็ง๊าย ง่าย เมื่อมีการทำธุรกรรมทางออนไลน์เกิดขึ้น แต่ความง่าย และสะดวกสบายเหล่านี้ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางโกงของเหล่ามิจฉาชีพด้วยเช่นกัน หากใช้งานอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพได้ง่ายๆตัวอย่างกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ มีอะไรบ้าง มาดูให้รู้ทันกันเลย!   

สายช้อปออนไลน์ต้องนักเอ๊ะ สังเกตให้ดี เช็กให้ละเอียดก่อน CF

     กลโกงยอดฮิตเหล่ามิจฉาชีพตอนนี้ ซึ่งอาจจะเปิดร้านค้าออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย และทำการโพสต์รูปสินค้าหรือทำคลิปวิดีโอเพื่อจูงใจลูกค้าให้ซื้อสินค้า รวมถึงตั้งราคาขายที่ถูกกว่าท้องตลาด ทำให้คนที่ต้องการซื้อหลงกลและโอนเงินไปให้ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับของตามที่สั่งซื้อหรือไม่ได้รับการติดต่อกลับจากทางร้าน การสังเกตและป้องกันกลโกงทางออนไลน์นั้น สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องช่างสังเกต เช่น อ่านรีวิวจากผู้ที่เคยซื้อสินค้า เช็กราคาจากหลายๆ แหล่งจำหน่าย ตรวจสอบชื่อผู้ขาย และเลขบัญชีที่รับเงิน หรือซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อจากร้านค้าออนไลน์ของมิจฉาชีพ 

สวมรอยบัญชีอีเมล บัญชีโซเชียลมีเดีย หรือแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น

     มิจฉาชีพจะสวมรอยบัญชีเป็นผู้ให้บริการต่างๆ เช่น เครือข่ายโทรศัพท์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรืสถาบันการเงินต่างๆ และส่งอีเมลแอบอ้างเพื่อหลอกให้เจ้าของบัญชีอีเมลกดลิงก์ หรือกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน หรือหมายเลขประจำตัวประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปหลอกเพื่อนของเจ้าบัญชีให้โอนเงินให้อีกครั้งหนึ่ง หรือมิจฉาชีพอาจสวมรอยเป็นบุคคลต่างๆ เพื่อหลอกเหยื่อให้โอนเงิน หรือส่งของขวัญมาให้ แต่ต้องโอนค่าธรรมเนียมไปก่อนที่จะได้รับของ เป็นต้น หากเจออีเมล หรือบัญชีผู้ใช้งานที่ดูน่าสงสัย หรือมีคนแปลกหน้าติดต่อมาด้วยท่าทีแปลกๆ ให้ระมัดระวังอย่าหลงโอนเงินไปก่อน มิฉะนั้นอาจสูญเงินก้อนนั้นไป และอาจไม่ได้คืนอีกด้วย

โฆษณาปล่อยเงินกู้นอกระบบ

เวลาท่องเว็บไซต์ต่างๆ หลายคนอาจเคยได้เห็นโฆษณาเงินกู้นอกระบบที่มีคอนเทนต์จูงใจในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น “เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ รับเงินสดทันที ไม่ต้องตรวจเครดิตบูโร” เมื่อเหยื่อหลงกล มิจฉาชีพก็จะส่งหนังสือสัญญามาให้ โดยขอให้โอนเงินเป็นค่าดำเนินการในการทำสัญญาก่อน ซึ่งเมื่อได้รับเงินจากเหยื่อแล้ว ก็จะปิดช่องทางติดต่อต่างๆ ในทันที ทำให้เหยื่อสูญเงินโดยไม่มีโอกาสได้คืน หากต้องการกู้เงินควรติดต่อขอคำปรึกษาและขอกู้สินเชื่อจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ได้รับการรับรองเท่านั้น สมัครบัตรกดเงินสดยูเมะพลัส

สรุปเช็กลิสต์พฤติกรรมมิจฉาชีพเบื้องต้น

1. ขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดเกินจริง

2. โอนก่อน ส่งของทีหลัง ลูกค้าควรเช็กประวัติร้าน ชื่อและเลขบัญชี ของเจ้าของร้านให้ดี รวมถึงอ่านรีวิว หาข้อมูลจากผู้ที่ซื้อสินค้าไปก่อนหน้า 

3. แม่ค้า หรือพ่อค้า ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนชื่อ และเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์บ่อย

4. แอบอ้างว่าเป็นคนกลางซื้อขายจากเว็บซื้อขายชื่อดัง เพื่อความสร้างความน่าเชื่อถือ

5. ปลอม SMS หลอกให้โอนเงิน หรือแจ้งว่าได้รับรางวัล แต่ต้องโอนเงินไปก่อน มักจะมาในรูปแบบของชื่ออีเมล หรือเบอร์โทรที่น่าสงสัย

ทำอย่างไรเมื่อถูกโกง!

หากหลงกลตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพไปแล้ว สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กองปราบปรามแนะนำ ดังนี้

1. แจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่โอนเงิน ทำการโอนเงินที่ไหน ให้ไปที่สถานีตำรวจในเขตพื้นที่นั้นภายในระยะเวลา 3 เดือนนับจากวันที่รู้ตัวว่าถูกหลอก

2. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความ และดำเนินการลงบันทึกประจำวัน จะทำการสอบปากคำผู้แจ้งถึงรายละเอียด และพฤติการณ์ในคดี จากนั้นจะทำการออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายได้ทำการโอนเงินไปให้ มาให้ปากคำที่สถานีตำรวจ หากไม่มาตาม        หมายเรียก 2 ครั้ง ตำรวจจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ออกหมายจับ

3. ผู้เเจ้ง หรือ ผู้เสียหาย ต้องเตรียมเอกสารดังนี้

     3.1 บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง หรือ ผู้เสียหาย

     3.2 ข้อความโฆษณาขายสินค้าในเว็บบอร์ด, เว็บไซต์, Facebook Page, Instagram, หรือ LINE ที่โพสต์ขายสินค้าและทำให้หลงเชื่อ

     3.3 หลักฐานการโอนเงิน เช่น สลิปโอนเงินจากธนาคาร ตู้ ATM หรือ สลิปการโอนจากโมบาย แบงค์กิ้ง หรือ รายการเดินบัญชี

     3.4 หลักฐานในการติดต่อซื้อขายสินค้า และการพูดคุยตกลงซื้อ-ขายต่างๆ เช่น ข้อความแช็ต (Chat) ที่ทำการสั่งซื้อสินค้าจากช่องทางต่างๆ

     3.5 ข้อมูลผู้ขายสินค้าหรือผู้ร่วมขบวนการ เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไปให้ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ ที่อยู่ เป็นต้น

     3.6 หลักฐาน หรือ ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี

ถึงแม้การใช้งานโมบายแบงค์กิ้งจะทำให้เราได้รับความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็ยังมีข้อควรระวังในการใช้งานด้วยเช่นกัน