ปักหมุด! บริหารหนี้บัตรเครดิตอย่างไรให้ได้ผล
บัตรเครดิต บัตรแห่งอำนาจในการใช้จ่าย เพราะเป็นบัตรที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายซื้อสินค้า ผู้ใช้บัตรจะได้รับสินค้ามาก่อนโดยที่ยังไม่ต้องชำระเงินทันที หลังจากนั้นจะมีการรวมยอดการใช้จ่ายภายในเดือนนั้นเมื่อสิ้นสุดรอบบิลและชำระเพียงครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดการชำระเงิน ถือได้ว่าเป็นบัตรอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้เงินสด และยังได้รับสิทธิประโยชน์อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและฝืดเคือง การชำระเต็มจำนวนก็อาจเป็นเรื่องยาก ทำให้ต้องชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ แต่หากไม่จัดการปิดหนี้ให้เสร็จสิ้น ยิ่งนานเท่าไหร่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจนถึงกับหน้ามืดตาลาย รวมทั้งโอกาสที่จะปิดหนี้ให้เรียบร้อยก็จะยากขึ้น จนเป็นหนี้บัตรเครดิตก้อนโต ที่สำคัญแม้จะมีรายได้เข้ามาแล้วนั้น ก็อาจปลดภาระหนี้ออกจากตัวไปทันทีไม่ได้
หากต้องการจัดการปิดหนี้บัตรเครดิตเหล่านี้ให้ได้นั้น อาจลองพิจารณาวิธีต่อไปนี้ เพื่อไปปรับใช้กับกับการบริหารจัดการหนี้บัตรเครดิตของตัวเองให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองมาดูกันว่าจะมีวิธีไหนกันบ้าง
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คืออะไร เกี่ยวอะไรกับการเป็นหนี้บัตรเครดิต
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความปวดหัวไม่น้อยสำหรับคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต นั่นก็เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากยอดเงินต้น แล้วยังหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย ที่สำคัญ อาจก่อให้เกิดหนี้สะสมมากขึ้นหากไม่รู้จักวิธีคำนวณดอกเบี้ยที่ถูกต้อง โดยทั่วไปแล้ว ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คือผลจากการที่จ่ายขั้นต่ำ หรือชำระหนี้ไม่ครบส่วน วิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. คำนวณดอกเบี้ยจากยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยนับตั้งแต่วันบันทึกรายการ - วันสรุปยอดค่าใช้จ่าย
2. คำนวณดอกเบี้ยจากยอดคงค้าง โดยนับตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำ - วันสรุปยอดเดือนถัดไป
ถึงอย่างนั้น ปัญหาดอกเบี้ยบัตรเครดิตอาจทำให้หนักใจน้อยลงได้หากรู้จักวิธีจัดการหนี้บัตรเครดิตให้เป็น และมีประสิทธิภาพ โดยบางวิธีก็ช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยทำให้เราจ่ายดอกเบี้ยจำนวนน้อยลงได้ เช่นการชำระยอดค่าใช้จ่ายแบบเต็มจำนวน หรือ หากขาดสภาพคล่องทางการเงินจริงๆ สามารถถอนเงินก้อนจากสินเชื่อบัตรกดเงินสดเพื่อชำระยอดเต็มจำนวน วิธีนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยสองขั้นจากการจ่ายขั้นต่ำของยอดบัตรเครดิตได้ สมัครบัตรกดเงินสดยูเมะพลัส
บริหารจัดการหนี้บัตรเครดิต ทำได้อย่างไรบ้าง
1. วางแผนชำระหนี้และการใช้จ่าย
เริ่มแรกต้องกลับมาตั้งต้นกันที่เรื่องการวางแผนชำระหนี้และการใช้จ่ายของตัวเอง หากคุณเปิดใช้งานบัตรเครดิตหลายใบ อาจพิจารณาปิดบัตรเครดิตที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มติมในบัตรนั้นๆ จนนำไปสู่หนี้ใหม่เพิ่มขึ้นมา อีกทั้งยังเป็นวิธีเตรียมพร้อมเริ่มต้นสู่การปิดหนี้บัตรเครดิตที่ดีอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายควบคู่กันไปด้วย โดยเริ่มจากสำรวจรายจ่ายของสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน แล้วลิสต์ออกมาว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น จากนั้นค่อยวางแผนตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือลดรายจ่ายบางอย่างออกไปให้น้อยที่สุดตามกำลังที่เราทำได้ โดยวิธีนี้จะช่วยให้เรามีเงินเหลือจากรายจ่ายเหล่านั้น เจียดมาเป็นเงินชำระหนี้ได้อีกทาง ส่วนใครที่มักชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิต อาจลองเปลี่ยนมาจ่ายด้วยเงินสดมากขึ้น นอกจากจะทำให้เราคุ้นเคยกับการไม่ใช้บัตรเครดิตแล้ว ยังเป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้เราตระหนักและชั่งใจในการซื้อของแต่ละครั้งได้ไม่ยากเมื่อต้องควักเงินจ่ายออกจากกระเป๋าไปตรงๆ
2. หยุดจ่ายขั้นต่ำและชำระหนี้สม่ำเสมอ
แนวทางการปิดหนี้ที่ได้ผลคือหยุดจ่ายขั้นต่ำเป็นอันดับแรก แล้วค่อยทยอยจ่ายหนี้คงค้างอย่างสม่ำเสมอ โดยเงินที่นำมาชำระนั้นอาจจัดสรรแบ่งมาจากเงินที่เหลือจากการตัดรายจ่ายไม่จำเป็นที่เราได้วาง แผนลิสต์ออกมาข้างต้นแล้ว
นอกจากนี้ จากเดิมทีที่วางแผนชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอนั้น หากได้รับเงินก้อนมาจำนวนหนึ่ง อาจนำเงินส่วนนั้นมาโปะหนี้ที่เหลือเพื่อเร่งปิดหนี้ให้ได้เร็วขึ้น ข้อดีของการโปะเงินก้อนจะช่วยลดดอกเบี้ยของยอดหนี้ที่เหลือได้ กล่าวคือ การโปะเงินก้อนจะทำให้เงินต้นลดลง รวมถึงดอกเบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากบัตรเครดิตเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
3. รวมหนี้ก้อนเดียว
หากมีหนี้บัตรเครดิตหลายเจ้า พยายามรวมหนี้ให้เป็นก้อนเดียว ไม่ว่าคุณจะเป็นหนี้บัตรเครดิตกับสถาบันการเงินใด ให้นำมารวมเป็นก้อนเดียวไว้ จากนั้นทำเรื่องยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่อยู่ในระบบ เพื่อปิดดอกเบี้ยแพงทั้งหมดและผ่อนชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงเป็นงวดๆ ไป ทั้งนี้ ต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีรวมหนี้เพื่อขอสินเชื่อของตนนั้นเข้ากับเงื่อนไขยื่นขอสินเชื่อฯ ของสถาบันการเงินที่ต้องการยื่นขอหรือไม่ หากอิงตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดไว้ว่าสถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้ได้ในวงเงินสูงสุดไม่ เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยวงเงินที่จะได้รับก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการพิจารณาของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเช่นกัน ข้อดีของวิธีนี้ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือดอกเบี้ยถูกลง เพราะหนี้ทั้งหมดถูกนำมารวมเป็นก้อนเดียวกันแล้ว ทำให้ต้องรับผิดชอบการจ่ายหนี้กับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
4. เจรจาประนอมหนี้กับสถาบันการเงิน
หากเกิดกรณีชำระหนี้คงค้างไม่ทันกำหนด หรือถึงจุดที่มียอดหนี้ท่วมจนไม่สามารถชำระคืนได้นั้น การเจรรจาประนอมหนี้กับสถาบันการเงินก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยลดภาระการชำระหนี้ได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายแนวทางเช่น ยื่นเรื่องขอลดอัตราดอกเบี้ยหรือพักชำระเงินต้น เป็นต้น โดยต้องติดต่อสถาบันทางการเงินเจ้าของบัตรนั้นๆ เพื่อขอเจรจาประนอมหนี้ ซึ่งเงื่อนไขและการพิจารณาผ่อนผันแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
5. สร้างวินัยทางการเงิน
หากต้องการป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เพิ่ม รวมทั้งบริหารจัดการกับภาระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต อาจเริ่มจากการสร้างวินัยทางการเงินควบคู่กันไป อย่างการเริ่มวางแผนทางการเงินของตัวเอง โดยจัดสรรรายได้ออกเป็นสัดส่วนต่างๆ ตามความเหมาะสม ครอบคลุมทั้งเงินที่จะนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเงินที่เก็บออมหรือสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ เงินที่แบ่งสำหรับเก็บออมยังอาจแบ่งออกมาเป็นเงินที่ใช้ฝากธนาคารโดยเฉพาะ และอีกส่วนหนึ่งเอาไว้ลงทุนหรือต่อยอดอื่นๆ ให้งอกเงยและสร้างผลตอบแทนกลับมาในอนาคตได้เช่นกัน